วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป

มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป

บาป คือ อะไร ?
     สิ่งของที่เสีย เรามีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียกอาหารบูด ฯลฯ คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด แตก หัก ผุพัง เน่า ขึ้นรา ฯลฯ ถ้าพูดรวมๆ เราเรียกว่า เสีย หมายความว่า มันไม่ดี
     อาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย ซึ่งสิ่งที่ทำให้จิตเสียนี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านใช้คำสั้นๆว่า “บาป” คำว่าบาปจึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเสีย คือมีคุณภาพต่ำลงนั้นเอง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น

กำเนิดบาป
     การกำเนิดของบาปในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี สอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์สั่งไม่ให้เอ่ยนามพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยนามพระเจ้าพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป
     ยิ่งไปกว่านั้นตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลานได้อีกด้วย เช่น ในศาสนาคริสต์เขาถือว่าทุกคนเกิดมามีบาป เพราะอาดัมกับอีวา ซึ่งเขาถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ขัดคำสั่งพระเจ้า แอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดต่อมาด้วย โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่า บาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด
     สำหรับพระพุทธศาสนานั้น เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมาอย่างดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาด พระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า

“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต
บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป”


“อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง”


“อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์”

     พระพุทธวจนะนี้ เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่า บาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกัน เปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้าน ลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได้
     ดังนั้นตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเอง คือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่ว บาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมองขุ่นมัวไป ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

วิธีล้างบาป
     เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาปในศาสนาที่มีพระเจ้า กับการแก้ไขพฤติกรรมในพระพุทธศาสนา จึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้าง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ ตรัสสอนว่า


“สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว”


“นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”

     พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอด ไปยังอีกคนหนึ่งได้ และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้ว จะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้
ในพระพุทธศาสนามีวิธีการแก้ไขบาปอกุศล ที่เคยพลาดพลั้งกระทำไป ได้อย่างมีเหตุผล ดังนี้
สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร
      “ก็เค็ม”
ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำ แล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร
      “ก็แค่กร่อยๆ”
ถ้าเอาน้ำในถังนี้ ใส่ลงในแท็งก์น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร
     “ก็จืดสนิท”
     “เกลือหายไปไหนหรือเปล่า”
     “เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม”
     “แล้วทำไมไม่เค็ม”
     “ก็เพราะน้ำในแท็งก์มีปริมาณมาก มากจนสามารถเจือจางรสเค็มของเกลือ จนกระทั่งหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม ภาษาพระท่านเรียก อัพโพหาริก หมายความว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี”
เช่นกัน วิธีแก้บาปในพระพุทธศาสนาก็คือ การหยุดทำบาป แล้วตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาทำให้ผลบาปทุเลาลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาทำให้จางบาปมีฤทธิ์น้อยลง หรือให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้

งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร ?
งด หมายถึง สิ่งใดที่เคยทำแล้ว หยุดเสีย เลิกเสีย
เว้น หมายถึง สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย
งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ ก็จะงดเสีย ที่ยังไม่เคยทำ ก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด

สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป
คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่
๑.ฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์
๒.ลักทรัพย์ เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอร์รัปชั่น
๓.ประพฤติผิดในกาม เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร
๔.พูดเท็จ เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ
๕.พูดส่อเสียด เช่น พุดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี
๖.พูดคำหยาบ เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ
๗.พูดเพ้อเจ้อ เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด
๘.คิดโลภมาก เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น
๙.คิดพยาบาท เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย
๑๐.มีความเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี

วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ
     คนเราประกอบขึ้นด้วยกายและใจ โดยใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกาย ให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ใจต้องการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

     “ทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขาก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป
     แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูด การกระทำ ที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น ความสุขก็ย่อมตามสนองเขาเหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างฉะนั้น”

     ดังนั้นผู้ที่ปรารถนา หาความสุขความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป ซึ่งทำได้โดย ต้องฝึกให้ใจมีหิริโอตตัปปะเสียก่อน


หิริโอตตัปปะ คือ อะไร ?
     หิริ คือ ความละอายบาป ถึงไม่มีใครรู้ แต่นึกแล้วกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป
     โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป
     สมมุติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่ เราไม่อยากจับต้อง รังเกียจว่าอุจจาระจะมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับ หิริ คือ ความละอายต่อบาป
     สมมุติว่าเราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัวไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
     “สัตบุรุษ ผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”

เหตุที่ทำให้เกิดหิริ
     ๑.คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน นั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมูหมากาไก่ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี่มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น
     ๒.คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมาขโมยของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น
     ๓.คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญ ทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น
     ๔.คำนึงถึงความเป็นพหูสูต ”ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้ว จะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น
     ๕.คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์สู้ทนเหนื่อย ยาก ตรัสรู้ธรรม แล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆกันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ไปทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น
     ๖.คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครู อาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ
     ๑.กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง” เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
     ๒.กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทัน ตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
     ๓.กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขา อีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า” เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป

ข้อเตือนใจ
     การทำชั่วเหมือนการเดินตามกระแสน้ำ เดินไปได้ง่าย ทุกคนพร้อมที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอมตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆตามอำนาจของความอยาก ก็จะประสบทุกข์ในบั้นปลาย
การทำดีเหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบาก ต้องใช้ความอดทน ใช้ความมานะพยายาม ต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูก ความดี เป็นที่ตั้ง ไม่ยอมเป็นทาสของความอยาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความมานะพยายามสูง แต่จะประสบสุขในบั้นปลาย
การทำกลางๆเหมือนยืนอยู่เฉยๆกลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ คนที่คิดว่า “ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความดีฉันก็ไม่สนใจที่จะทำ” เข้าทำนองบุญก็ไม่ทำ กรรมก็ไม่สร้าง วัดก็ไม่เข้า เหล้าก็ไม่กิน เขาย่อมจะมีโอกาสเผลอไปทำความชั่วได้ในไม่ช้า เพราะใจของคนเรา พร้อมที่จะไหลเลื่อนลงไปในที่ต่ำ ตามอำนาจกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่คิดอย่างนี้จึงเป็นคนประมาทอย่างยิ่ง

     ดังนั้นเราชาวพุทธทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาป เพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ คือการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

อานิสงส์การงดเว้นบาป
๑.ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย   
๒.ทำให้เกิดมหากุศลตามมา
๓.ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
๔.ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
๕.ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
๖.ทำให้จิตใจผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป

     “บัณฑิตเห็นภัยในนรกทั้งหลายแล้ว พึงงดเว้นบาปทั้งหลายเสีย พึงสมาทานอริยธรรมแล้วงดเว้น เมื่อความบากบั่นมีอยู่ ชนไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ และรู้อยู่ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงหยิบฉวยของที่เขาไม่ให้ พึงเป็นผู้ยินดีด้วยภรรยาของตน พึงงดภรรยาของคนอื่น และไม่พึงดื่มเมรัยสุราอันยังจิตให้หลง”

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

๑๐๘ มงคลธรรม คำสอนพระสงฆ์

๙๑.คำสอนหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ความเจ็บไม่มีอยู่ที่ใจของเรา  ใจของเราไม่ใช่ความเจ็บ ความเจ็บไม่ใช่ใจของเรานะ  ใจข...