วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์


มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์


ประพฤติพรหมจรรย์ คือ อะไร ?
            การประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติตนอย่างพระพรหม หรือความประพฤติอันประเสริฐ หมายถึง การประพฤติตามคุณธรรมต่างๆทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีก จนกระทั่งหมดกิเลส ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิชั้นของจิต

ภูมิชั้นของจิต
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า จิตของคนเราอาจแบ่งภูมิชั้นได้เป็น ๔ ระดับ ตามการฝึกฝนตนเอง คือ
           ๑.กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ ยังยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่ ได้แก่ ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป
           ๒.รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์ มีความสุขความพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิมามาก จนกระทั่งได้รูปฌาน เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ไม่สนใจกามารมณ์ อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่ากามารมณ์ เป็นเหมือนพระพรหมบนดิน ละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหม
           ๓.อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์ มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌาน มีความสุขที่ประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม
            ๔.โลกุตตรภูมิ เป็นชั้นที่พ้นโลกแล้ว ได้แก่ ภูมิจิตของอริยบุคคล มีความสุขอันละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง
ทั้ง ๔ ภูมินี้ รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ
โลกียภูมิ ได้แก่ ๑.กามาวจรภูมิ
                         ๒.รูปาวจรภูมิ
                         ๓.อรูปาวจรภูมิ
โลกุตตรภูมิ ได้แก่ ๔.โลกุตตรภูมิ
            ในชั้นโลกียภูมินั้น มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป และมีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ ผู้ที่อยู่ในอรูปาวจรภูมิ ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ประมาท อาจตกลงมาอยู่ในกามาวจรภูมิก็ได้ ผู้อยู่ในกามาวจรภูมิ ถ้าตั้งใจทำสมาธิอาจเลื่อนไปอยู่ รูปาวจรภูมิหรืออรูปาวจรภูมิได้ เลื่อนไปเลื่อนมาได้ตามบุญกุศล และตามผลของการปฏิบัติธรรมของตน
            และในชั้นโลกียภูมินี้ ถึงจะมีความสุข ก็สุขอย่างโลกีย์ ยังมีทุกข์ระคนอยู่ เหมือนอย่างที่เราเจอกัน มีลูก มีครอบครัว ก็คิดว่าจะสุข พอมีจริง ก็มีเรื่องกลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ เหมือนในเวลาหน้าร้อน ก็คิดว่าหน้าฝนจะสุข พอถึงหน้าฝน ก็หวังว่าหน้าหนาวจะสบาย เลยไม่ทราบว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
พระท่านเปรียบความสุขทางโลกียภูมินี้ว่า เหมือนพยับแดด เราคงเคยเจอกันในหน้าร้อน มองไปบนถนนไกลๆ จะเห็นพยับแดดระยิบระยับอยู่ในอากาศเต็มไปหมด หรือเห็นเหมือนมีน้ำอยู่บนผิวถนน แต่พอเข้าใกล้ไปดู กลับไม่เห็นมีอะไร สุขทางโลกีย์ก็เหมือนกัน หวังไว้แต่ว่าจะเจอสุข แต่พอเจอเข้าจริงกลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
            ด้วยเหตุนี้จิตของคนที่ตกอยู่ในโลกียภูมิ ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงใช้คำว่า สังสารจิต แปลว่า จิตวิ่งวุ่น วิ่งสับสน วนไปเวียนมา จะวิ่งไปไหนล่ะ ก็วิ่งตะครุบสุขนะสิ แต่สุขโลกีย์มันเป็นสุขกลับกลอกหลอกหลอน จิตก็เลยกลับกลอกไปด้วย ประการสำคัญคือ สุขโลกีย์มันหนีได้ พอเราจะทันมันก็หนี เมื่อมันหนีเราก็ตาม แล้วก็ตามไม่ทันสักที
            ขอให้ลองสังเกตดูเถอะ สุขโลกีย์ที่เป็นยอดสุขนั้นไม่มี เป็นร้อยตรีก็คิดว่าเป็นร้อยโทคงจะสุข พอเป็นร้อยโทก็คิดว่าเป็นร้อยเอกคงจะสุข ไล่ตามขั้นไป ร้อยเอกก็ว่าพันตรี พันตรีก็ว่าพันโท จนเป็นนายพลก็ยังคิดว่ามีสุขข้างหน้าที่ดีกว่าของตน
            หากวิ่งตามตะครุบสุขไปเรื่อย จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ วิ่งตามตะครุบไปได้สุขโลกีย์มานิดหน่อย แต่คว้าติดทุกข์มาทุกที หักกลบลบหนี้ดูแล้ว ทุกข์มากกว่าสุข และที่สำคัญ จิตที่วิ่งวุ่นสับสนมี โอกาสพลาดพลั้งได้ง่าย เหมือนคนวิ่งวุ่นสับสนนั่นแหละ มีหวังหกล้มตกหลุมตกบ่อเข้าจนได้ จิตก็เหมือนกัน วิ่งไล่จับความสุขหัวซุกหัวซุน คนที่ระวังไม่ดี หกล้มเข้าคุกเข้าตะรางก็เยอะ ถลำลงนรกอเวจีก็มาก
            อุปมาความสุขในโลกียภูมิทั้ง ๓ ชั้น ได้ดังนี้
            กามาวจรภูมิ เป็นสุขชั้นต่ำ ยังยุ่งเกี่ยวกับกาม สุขเหมือนเด็กเล่นขี้ เล่นดิน
            รูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาหน่อย สุขเหมือนคนมีงานมีการที่ถูกใจ ทำเพลิดเพลินไป
            อรูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาอีก สุขเหมือนพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่เห็นลูกซึ่งตนเลี้ยงดูอบรมมา มีความเจริญก้าวหน้า หรือเห็นงานการที่ตนทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชื่นชมผลงานของตน
            ศาสนาโดยทั่วไป อย่างสูงที่สุด ก็สอนให้คนเราพัฒนาจิตได้ถึงขั้นอรูปารมณ์เท่านั้น เช่น ศาสนาพราหมณ์ ก็สอนให้คนมุ่งเป็นพระพรหม ยังวนเวียนอยู่ในโลกียภูมิ ขึ้นๆ ลงๆ แต่พระพุทธศาสนาของเราสอนให้คนมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ เข้านิพพาน

ความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์
            ความมุ่งหมายสุดยอดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา คือให้ตัดโลกียวิสัย ตัดเยื่อใยทุกๆอย่าง เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ และอย่างแรกที่ต้องทำก่อน คือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เพื่อตัดกามารมณ์ แล้วจึงตัดรูปารมณ์ อรูปารมณ์ไปตามลำดับ
            สำหรับพวกเราปุถุชนทั่วๆไป สิ่งสำคัญที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้า ในการพัฒนาจิต และทำให้กิเลสฟูกลับขึ้นได้ง่ายที่สุดก็คือ กามารมณ์ ถ้าใครตัดกามารมณ์ได้ ก็มีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว การประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ จึงมุ่งเน้นการตัดกามารมณ์เป็นหลัก
            เราลองมาดูถึงอุปมา โทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

อุปมาโทษของกาม
            ๑.กามเปรียบเหมือนท่อนกระดูกเปล่า ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่ เมื่อสุนัขหิวมาแทะเข้า ยิ่งแทะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก ไม่เต็มอิ่ม พลาดท่าแทะ พลาดไปถึงฟันหักได้ พวกเราก็เหมือนกันที่หลงว่า มีคู่รักแล้ว แต่งงานแล้วจะมีสุข พอมีเข้าจริง ไม่เห็นจะสุขจริงสักราย ต้องมีเรื่องขัดใจ ให้ตะบึงตะบอนกัน ให้กลุ้มใจ ให้ห่วงกังวล ทั้งห่วง ทั้งหวง ทั้งหึง ไม่เว้นแต่ละวัน ที่หนักข้อถึงกับไปกระโดดน้ำตาย หรือผูกคอตายเสียก็มากต่อมาก พอจะมีสุขบ้างก็ประเดี๋ยวประด๋าว พอให้มันๆ เค็มๆ เหมือนสุนัขแทะกระดูก
            ๒.กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา แร้ง กา หรือเหยี่ยวตัวอื่นก็จะเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแก่ตัว ผู้อื่นแย่งชิงได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา จึงอาจต้องเข่นฆ่ากัน เป็นทุกข์แสนสาหัส เราลองสังเกตดูก็แล้วกัน ที่มีข่าวกันอยู่บ่อยๆ ทั้งฆ่ากัน ชิงรักหักสวาทน่ะ หรือรอบๆตัวมีบ้างไหม ที่กว่าจะได้แต่งงานกันก็ฝ่าดงมือ ฝ่าดงเท้าเสียแทบตาย ถูกตีหัวเสียก็หลายที พอแต่งแล้วก็ยังไม่แน่ เดี๋ยวใครมาแย่งไปอีกแล้ว ยิ่งสวยเท่าไรยิ่งหล่อเท่าไร ยิ่งอันตรายเท่านั้น
            ๓.กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า ลุกโพลงเดินทวนลมไป ไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็โดนไหม้มือ ระหว่างเดินก็ถูกควันไฟรมหน้า ต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่ คนเราที่ตกอยู่ในกามก็เหมือนกัน ต้องทนรับทุกข์จากกาม ทำงานงกๆ หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ลูกจะเรียนที่ไหนดี จะเกเรหรือเปล่า เมียจะนอกใจไหม เดี๋ยวก็มีเรื่องขัดใจกัน เสร็จแล้วก็ไม่ใช่จะได้อยู่ด้วยกันตลอด เดี๋ยวอ้าว! รถชนตายเสียแล้ว อ้าว! เป็นมะเร็งตายเสียแล้ว หรือเผลอประเดี๋ยวเดียว ก็ต้องแก่ตายกันเสียแล้ว ไม่ได้อยู่กันไปได้ตลอดหรอก เหมือนคบเพลิงหญ้าถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้ง
            ๔.กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิต ทั้งๆที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็สาหัส แต่ก็แปลก เหมือนมีอะไรมาพรางตาไว้ เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป พระท่านสอน ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ก็เชื่อท่านหรอก แต่พอออกนอกวัด เจอสาวๆ สวยๆ หนุ่มรูปหล่อเข้า ก็ลืมเสียแล้ว เวลาจะแต่งงาน ก็คิดถึงแต่ความสวย ความหล่อ ความถูกใจ หาได้มองเห็นไปถึงความทุกข์อันจะเกิดจากกาม เกิดจากชีวิตการครองเรือนไม่
            ๕.กามเปรียบเหมือนความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพ แต่ไม่นานก็ผ่านไป พอตื่นขึ้นก็ไม่เห็นมีอะไร เหลือไว้แต่ความเสียดาย คนเราที่จมอยู่ในกามก็เหมือนกัน แรกๆก็คุยกันกะหนุงกะหนิงน้องจ๊ะน้องจ๋า อยู่กันไม่นาน พูดคำด่าคำเสียแล้ว เผลอๆถึงตบตีกัน เอาซี่โครงเหน็บข้างฝาเสียเลยก็มี งานก็มากขึ้นเป็น ๒-๓ เท่า ไม่เห็นสุขเหมือนที่คิดฝันไว้ กามเหมือนความฝัน พวกเราจะเป็นคนเพ้อ ฝันลมๆ แล้งๆ หรือจะเป็นคนยืนอยู่บนความจริง ตั้งใจฝึกฝนตนเองปฏิบัติธรรมกันล่ะ
            ๖.กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดง ก็ดูโก้เก๋ดี ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจได้เพียงชั่วคราว ไม่เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไรก็เอาคืนเมื่อนั้น ตัวเองก็ได้แต่ละห้อยหา พวกเราก็เหมือนกัน ไปได้แฟนสวยแฟนหล่อมาก็ภูมิใจ ไปไหนๆใครๆก็ทักว่า คู่นี้สมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ยืดเสียอกตั้งทีเดียว เผลอประเดี๋ยวเดียว อ้าว! ผู้หญิงกลายเป็นยายแร้งทึ้งไปเสียแล้ว ผู้ชายไหงหัวล้านพุงพลุ้ยเสียแล้ว นี่ความหล่อความสวยมันถูกธรรมชาติ ถูกเวลาทวงกลับเสียแล้ว พวกเราจะไปหลงโง่งมงาย อยู่กับของขอยืมของชั่วคราวแบบนี้หรือเปล่า
            ๗.กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมา เมื่อเขาอยากได้ผล จะด้วยวิธีไหนก็เอาทั้งนั้น ปีนได้ก็ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นเลย ใครอยู่บนต้น ลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆก็แข้งขาหัก พวกเราก็เหมือนกัน บางคนคงเคยเจอมาแล้ว เที่ยวไปจีบคนโน้นคนนี้ ยังไม่ทันได้มาเลย ถูกเตะต่อยมาบ้าง ถูกตีหัวมาบ้าง ได้แต่บ่น รู้อย่างนี้นอนอยู่บ้านดีกว่า นี่เหมือนผลไม้ในป่า ยิ่งดกยิ่งสวย แล้วก็ระวังเถอะจะเจ็บตัว
            ๘.กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตให้ถูกสับ เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลาย ทั้งกายและใจ เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีด ที่สับเนื้อจนเป็นแผลนับไม่ถ้วน
            ๙.กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจ เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้ว ที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำใจนั้นเป็นไม่มี เหมือนหอกหลาวที่เสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น
            ๑๐.กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมาก ต้องมีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจปลงใจได้สนิท วางจิตให้โปร่งไม่ได้ เป็นที่หวาดเสียวมาก อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ
            ทั้งหมดนี้ คือ อุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ความจริงแล้วยังมีอีกมาก นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เมื่อเราเห็นกันแล้วว่ากามมีโทษมากมายถึงปานนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่มีแฟน ยังไม่ได้แต่งงาน รีบฝึกสมาธิมากๆเข้าตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อไรใจเราสงบ ความสว่างภายในบังเกิดขึ้น เราก็มีสุขที่เหนือกว่ากามสุขอยู่แล้ว ความคิดที่จะมีคู่ก็จะหมดไปเอง ส่วนคนที่แต่งงานแล้ว ก็ไม่ถึงกับต้องหย่ากันหรอกนะ เอาเพียงแค่อย่าไปมีเมียน้อย อย่าไปมีใหม่ อย่าไปหาอะไหล่มาเสริมก็แล้วกัน แล้วก็หาเวลารักษาศีล ๘ เสียบ้างด้วย เราลองมาดูวิธีประพฤติพรหมจรรย์กัน

วิธีประพฤติพรหมจรรย์
            พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี
            พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือ นอกจากรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไป และฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔
            พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาส ก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย หรือถ้าเป็นชาย ก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนา และปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่
            พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก


            “บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจด ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด”

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบวช
            ชาวพุทธเรานิยมบรรพชาอุปสมบทกัน เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จัดเป็นการฝึกประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดียิ่งวิธีหนึ่ง จึงควรที่พวกเราจะได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการบวชไว้บ้าง ดังนี้
            ๑.อายุขณะบวช เยาวชนเพศชายถ้ามีเวลา ควรหาโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรกันสักช่วงหนึ่ง ระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปี เพราะช่วงนี้ภาระยังน้อย ยังไม่ค่อยมีกังวล จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็ควรหาเวลาที่เหมาะสม บวชเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐-๒๕ ปี หรือเวลาอื่นที่สะดวก แต่ไม่ควรรออายุมากเกินไป เพราะสังขารจะไม่อำนวย จะลุกจะนั่ง จะฝึกสมาธิก็ไม่สะดวก ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีอายุมากแล้ว มักจะมีทิฏฐิ ว่ายากสอนยาก เหมือนไม้แก่ดัดยาก
            ๒.ระยะเวลาที่บวช อาจบวชในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือบวชภาคฤดูร้อน ๑-๒ เดือน บวชในเวลาที่สะดวกลางานได้ หรือบวชตลอดชีวิตก็ได้ แต่ควรบวชนานกว่า ๑ เดือน จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร
            ๓.การเลือกสำนักบวช ข้อนี้สำคัญมาก การบวชจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับสำนักบวชนี่เอง การเลือกจงเลือกสำนักที่มีการกวดขัน การประพฤติธรรมและกวดขันพระวินัย สำนักที่ดี พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะมีการอบรมสั่งสอนพระใหม่อย่างใกล้ชิด มีการให้โอวาท เคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติธรรมจนไม่มีเวลาไปฟุ้งซ่านเรื่องอื่น อย่างนี้ดี ส่วนสำนักไหนปล่อยปละละเลย บวชแล้วไม่มีใครสนใจ ปล่อยให้อยู่ตามสบาย บางทีตั้งแต่บวชจนสึก พระใหม่ไม่ได้สนทนาธรรมกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ป่วยการบวช ที่เราบวชก็มุ่งจะฝากตัวให้ท่านอบรมให้ แต่ถ้าท่านไม่เอาใจใส่ เราบวชแล้วก็จะได้กุศลไม่เต็มที่
            ๔.การรักษาวินัย ต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นพระได้เพราะวินัย ถ้าถอดวินัยออกจากตัวเสียแล้วแม้จะโกนผมนุ่งผ้าเหลือง ก็ไม่ใช่พระ นอกจากจะไม่ใช่พระแล้ว ชาวพุทธยังถือว่าผู้นั้นเป็นโจรปล้นศาสนาอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาพระวินัย และรักษาโดยเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นสึกออกมาแล้วจะมาเสียใจจนตาย ว่าบวชเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ
            ๕.การปฏิบัติธรรม ควรใช้เวลาในการศึกษาพระธรรมวินัย และทำสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ งดคุยเฮฮาไร้สาระ
            ๖.การสงเคราะห์สังคม พระบวช ๓ เดือน ควรเน้นประโยชน์ตน คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นหลัก และก็หาเวลาช่วยเหลืองานหมู่คณะด้วย แต่ต้องไม่ให้เสียการปฏิบัติธรรม ถ้าจะสงเคราะห์ญาติโยม ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี บิณฑบาตก็ให้เป็นระเบียบ จะเดินจะเหินมีกิริยาสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ให้ญาติโยมเขาได้เห็นเป็นตัวอย่าง ในการมีวินัยและความสำรวมตน

อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์
            ๑. ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือระแวง
            ๒. ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยในอากาศ
            ๓. ทำให้มีเวลามากในการทำความดี
            ๔. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย
            ๕. ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ
            ๖. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
 

“กามทั้งหลายมีโทษมาก มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน ความชั่วเป็นอันมากเกิดขึ้นเพราะ กามเป็นเหตุ...”

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

๑๐๘ มงคลธรรม คำสอนพระสงฆ์

๙๑.คำสอนหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ความเจ็บไม่มีอยู่ที่ใจของเรา  ใจของเราไม่ใช่ความเจ็บ ความเจ็บไม่ใช่ใจของเรานะ  ใจข...