วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน

ความอดทน คือ อะไร ?
     ความอดทน มาจากคำว่า ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไป ของเสีย ของสกปรก หรือของหอม ของดีงามก็ตาม
     งานทุกชิ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ ที่สำเร็จขึ้นมาได้ นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ล้วนต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมข้อนั้นคือ ขันติ
     ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู่ ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คืออนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น

ลักษณะความอดทนที่ถูกต้อง
     ๑.มีความอดกลั้น คือ เมื่อถูกคนพาลด่า ก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจสนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆขึ้นไป
     ๒.เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้าย ทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทน มีคำตรัสของท้าวสักกะเป็นข้อเตือนใจอยู่ว่า

“ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว
ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน
ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่
ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง”

     ๓.ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใครๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา
     ๔.มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน ลักษณะความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆว่า

“ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง
           ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย”         

     คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติ บารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น

พวกที่จนก็ทนจนต่อไป ไม่ขวนขวายทำมาหากิน จัดเป็นพวกตายด้าน

พวกที่โง่ก็ทนโง่ไป ใครสอนให้ก็ไม่เอา จัดเป็นพวกดื้อด้าน

พวกที่ชั่วแล้วก็ชั่วอีก ใครห้ามก็ไม่ฟัง จัดเป็นพวกดื้อดึง

     ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือ ตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
เราสรุปลักษณะของขันติโดยย่อได้ ดังนี้
๑.อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
๒.อดทนทำความดีต่อไป
๓.อดทนรักษาใจไว้ให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

ประเภทของความอดทน
ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้เป็น ๔ ประเภท คือ
     ๑.อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ ก็อดทนทำงานเรื่อยไป ไม่ใช่เอาแต่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วไม่ทำงาน
     ๒.อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายกายของเราเอง ความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วยจะร้องครวญคราง พร่ำเพ้อรำพัน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจ ก็โกรธง่าย พวกนี้จึงต้องป่วยเป็น ๒ เท่า คือนอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจแถมเข้าไปด้วย ทำตัวเป็นที่เบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย
     ๓.อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง ความอยุติธรรมต่างๆในสังคม ระบบงานต่างๆที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ
คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมาก โดยอัธยาศัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้น อย่าพึงคิด เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มเข้าหมู่คน หรือมีคนตั้งแต่ ๒ คน ขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ
     ๔.อดทนต่ออำนาจกิเลส เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่ น่าเพลิดเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพย์ติด ไม่รับสินบน ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่เห่อยศ ไม่บ้าอำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น
     การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณเปรียบไว้ว่า

“เขาด่าแล้วไม่โกรธ ว่ายากแล้ว
เขาชมแล้วไม่ยิ้ม ยากยิ่งกว่า” 


วิธีฝึกให้มีความอดทน
     ๑.ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่ ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่างในเรื่องของ พระเตมีย์ใบ้
     เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีอยู่ชาติหนึ่ง พระองค์เกิดเป็นโอรสกษัตริย์นามว่าพระเตมีย์ ขณะอายุได้ ๖-๗ ขวบ ได้เห็นพระราชบิดาสั่งประหารโจรโดยใช้ไฟครอกให้ตาย ด้วยบุญบารมีที่ทำมาดีแล้ว ทำให้พระเตมีย์ระลึกชาติได้ว่า ภพในอดีตพระองค์ก็เคยเป็นกษัตริย์ และก็เคยประหารโจร ทำให้ต้องตกนรกอยู่ช้านาน จึงคิดว่า ถ้าชาตินี้เราต้องเป็นกษัตริย์อีก ก็ต้องฆ่าโจรอีก แล้วก็จะตกนรกอีก
     ตั้งแต่วันนั้นมา พระเตมีย์จึงแกล้งทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าตนพิการ จะได้ไม่ต้องเป็นกษัตริย์ พระราชบิดาจะเอาขนม เอาของเล่นมาล่อ ก็ไม่สนใจ จะเอามดมาไต่ เอาไรมากัด เอาไฟมาเผารอบตัวให้ร้อน เอาช้างมาทำท่าจะแทงก็เฉย ครั้นถึงวัยหนุ่ม เอาสาวๆสวยๆมาล่อ ก็เฉย เพราะคำนึงถึงภัยในนรก หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นเต็มที่ จึงมีความอดทนอยู่ได้
     นานวันเข้าพระราชบิดาเห็นว่า ถ้าเอาพระเตมีย์ไว้ก็จะเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง จึงสั่งให้คนนำไปประหารเสียนอกเมือง เมื่อออกมาพ้นเมืองแล้ว พระเตมีย์ก็แสดงตัวว่าไม่ได้พิการแต่อย่างใด มีพละกำลังสมบูรณ์พร้อม แล้วก็ออกบวช ต่อมาพระราชบิดา ญาติพี่น้อง ประชาชนก็ได้ออกบวชตามไปด้วย และได้สำเร็จฌานสมาบัติกันเป็นจำนวนมาก
     ๒.ต้องรู้จักเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น คือ นึกเสียว่าที่เขาทำแก่เราอย่างนั้นน่ะดีแล้ว เช่น เขาด่าก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาตี เขาตีก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาฆ่า เมียที่มีชู้ยังดีกว่าเมียที่ฆ่าผัว ผัวมีเมียน้อยก็ยังดีกว่าผัวที่ฆ่าเมีย เพราะเห็นแก่หญิงอื่น ถ้าเปรียบกับการชกมวย การสู้แบบนี้ก็คือ การหลบหมัดของคู่ต่อสู้โดยวิธีหมอบลงต่ำ ให้หมัดเขาคร่อมหัวเราไปเสีย เราไม่เจ็บตัว ตัวอย่างในเรื่องนี้ ดูได้จาก พระปุณณะเถระ
     พระปุณณะเดิมเป็นชาวสุนาปรันตะ ไปค้าขายที่เมืองสาวัตถี ได้ฟังเทศน์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงออกบวช
     ครั้นบวชแล้ว การทำสมาธิภาวนาไม่ได้ผล เพราะไม่คุ้นกับสถานที่ ท่านคิดว่าภูมิอากาศที่บ้านเดิมของท่านเหมาะกับตัวท่านมากกว่า จึงทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสถามว่า
     “เธอแน่ใจหรือปุณณะ คนชาวสุนาปรันตะนั้นดุร้ายมากนัก ทั้งหยาบคายด้วย เธอจะทนไหวหรือ”
     “ไหวพระเจ้าข้า”
     “นี่ปุณณะ ถ้าคนพวกนั้นเขาด่าเธอ เธอจะมีอุบายอย่างไร”
     “ข้าพเจ้าก็คิดว่า ถึงเขาจะด่า ก็ยังดีกว่าเขาตบต่อยด้วยมือพระเจ้าข้า”
     “ถ้าเผื่อเขาต่อยเอาล่ะ ปุณณะ”
     “ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาก้อนดินขว้างเอา”
     “ก็ถ้าเขาเอาก้อนดินขว้างเอาล่ะ“       
     “ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาไม้ตะพดตีเอา“
     “เออ ถ้าเผื่อเขาหวดด้วยตะพดล่ะ”
     “ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าถูกเขาแทงหรือฟันด้วยหอกดาบ”
     “เอาล่ะ ถ้าเผื่อคนพวกนั้นเขาจะฆ่าเธอ ด้วยหอกด้วยดาบล่ะ ปุณณะ”
     “ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า มันก็เป็นการดีเหมือนกันพระเจ้าข้า”
     “ดีอย่างไร ปุณณะ”
     “ก็คนบางพวกที่คิดอยากตาย ยังต้องเสียเวลาเที่ยวแสวงหาศัสตราวุธมาฆ่าตัวเอง แต่ข้าพระองค์มีโชคดีกว่าคนพวกนั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหา ศัสตราวุธอย่างเขา”
     “ดีมาก ปุณณะ เธอคิดได้ดีมาก เป็นอันตกลง เราอนุญาตให้เธอไปพำนักทำความเพียรที่ตำบลสุนาปรันตะได้”
     พระปุณณะกลับไปเมืองสุนาปรันตะแล้ว ทำความเพียร ในไม่ช้าใจก็หยุดนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกายไปตามลำดับ จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
นี่คือเรื่องของพระปุณณะ นักอดทนตัวอย่าง ซึ่งอดทนได้โดยวิธี เชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น
     ๓.ต้องฝึกสมาธิมากๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิ เป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับ สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย สมาธิอุปมาเหมือนมือขวา จะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้าง จึงจะสะอาดดี
     มีตัวอย่างของผู้มีความอดทนเป็นเลิศอีกท่านหนึ่ง คือ พระโลมสนาคเถระ
     พระโลมสนาคเถระ เป็นพระที่ทำสมาธิ จนสามารถระลึกชาติได้ แต่ยังไม่หมดกิเลส วันหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่กลางแจ้ง พอถึงตอนเที่ยงแดดส่อง เหงื่อไหลท่วมตัวท่าน พวกลูกศิษย์จึงเรียนท่านว่า
     “ท่านขอรับ นิมนต์ท่านนั่งในที่ร่มเถิด อากาศเย็นดี”
พระเถระกล่าวตอบว่า
     “คุณ ฉันนั่งในที่นี้ เพราะกลัวต่อความร้อนนั่นเอง”
     แล้วนั่งพิจารณาอเวจีมหานรกเรื่อยไป เพราะเคยได้ตกนรกมาหลายชาติ เห็นว่าความร้อนในอเวจีที่เคยตก ร้อนกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า ท่านจึงไม่ลุกหนี ตั้งใจทำสมาธิต่อไป จนในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
     พวกเราก็ควรนำมาเป็นข้อคิดเตือนใจว่า
“ที่อ้างร้อนนัก หนาวนัก ขี้เกียจภาวนา ระวังจะไปร้อนหมกไหม้ในอเวจี หนาวเสียดกระดูกในโลกันต์”

อานิสงส์การมีความอดทน
๑.ทำให้กุศลธรรมทุกชนิด เจริญขึ้นได้
๒.ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๓.ทำให้ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้
๔.ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ทุกอิริยาบถ
๕.ชื่อว่าได้เครื่องประดับอันประเสริฐของนักปราชญ์
๖.ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่น
๗.ทำให้ได้พรหมวิหารโดยง่าย
๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

“บุคคลอดทนต่อคำของผู้สูงกว่าได้ เพราะความกลัว
อดทนถ้อยคำของผู้เสมอกันได้ เพราะเหตุแห่งความแข่งดี
ส่วนผู้ใดในโลกนี้ อดทนต่อคำของคนเลวกว่าได้
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ความอดทนนั้นสูงสุด”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

๑๐๘ มงคลธรรม คำสอนพระสงฆ์

๙๑.คำสอนหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ความเจ็บไม่มีอยู่ที่ใจของเรา  ใจของเราไม่ใช่ความเจ็บ ความเจ็บไม่ใช่ใจของเรานะ  ใจข...