กุลจิรัฏฐิติธรรม 4
กุลจิรัฏฐิติธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน หรือเหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นาน ประกอบด้วย
1. นัฎฐคเวสนา หมายถึง ของหายของหมด รู้จักหามาไว้ คือเมื่อมีสิ่งของภายในบ้านสูญหายไป และอยู่ในวิสัยที่จะหามาแทนได้ ก็รู้จักหาวิธีการต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งสิ่งของเหล่านั้น หรือหาสิ่งของอื่น ๆ มาทดแทนไว้ เป็นต้น
2. ชิณณปฏิสังขรณา หมายถึง ของเก่าชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม คือการรู้จักบำรุงรักษาและซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดที่ยังสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรืออยู่ในสภาพที่ยังสามารถทำงานได้ แต่มีอุปกรณ์บางอย่างชำรุดไป ก็สามารถที่จะซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ได้นอกจากนี้ยังหมายถึงการรู้จักนำสิ่งของที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (recycle)
3. ปริมิตปานโภชนา หมายถึง รู้จักประมาณในการกินการใช้ คือการรู้จักใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ รู้จักการประหยัดอดออม รู้จักใช้จ่ายตามฐานะของตนเอง หรือการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะเป็นต้น
4. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา หมายถึง ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน คือผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะต้องตั้งอยู่ในหลักของศีลธรรม ทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่สุจริต เว้นจากอบายมุข ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในกาม เป็นต้น บุคคลที่มีศีลธรรมอันดีจะทำให้ครอบครัวสงบสุข
ในทางตรงกันข้ามตระกูลที่มั่งคั่งอยู่ได้ไม่นาน เพราะสาเหตุ 4 ประการคือ
1.ไม่แสวงหาวัสดุที่หายแล้ว คือเมื่อสิ่งของภายในบ้านสูญหายไป แต่อยู่ในวิสัยที่จะหามาแทน กลับไม่ทำ ไม่แสวงหา หากหายไปบ่อย ๆ สิ่งของแม้จะมีมากเพียงใดก็หมดได้ เปรียบกับภูเขาแม้จะใหญ่โตเพียงใด หากเก็บเอาก้อนหินทีละก้อนออกไปทุกวัน ๆ ภูเขาที่ว่าใหญ่นั้นก็จะไม่มีให้เห็น เงินทองหรือสิ่งของก็เช่นกัน หากมีแต่หยิบออกหรือหายไปแม้จะทีละน้อย ๆ แต่ไม่มีการหามาเพิ่มหรือทดแทน ก็จะหมดสิ้นไปในที่สุด
2.ไม่บูรณะวัสดุที่ชำรุดเสียหาย คือ ไม่บำรุงรักษาและซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุด ไม่ดูแลและไม่ใส่ใจกับสิ่งของที่มีอยู่เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ทิ้งขว้างละเลยและปล่อยให้เสียหายก่อนเวลาอันสมควร ผลสุดท้ายของที่มีอยู่ก็ใช้การไม่ได้
3.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคทรัพย์สมบัติ คือการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติมากจนเกินไปโดยไม่คำนึงถึงฐานะของตนเอง เช่น คนที่มีทรัพย์สมบัติมามากและมีรายได้น้อย แต่กลับจับจ่ายใช้สอยเกินกว่าที่ตนมี ที่ตนได้มาทรัพย์สมบัติก็จะไม่มีเหลือและยังจะทำให้มีการก่อหนี้ยืมสินให้เป็นภาระผูกพันตนอีก แม้จะมีทรัพย์สมบัติมากเพียงใดหากไม่รู้จักประมาณในการจับจ่ายใช้สอยแล้วทรัพย์ก็หมดไป คนที่ร่ำรวยก็จะกลับกลายเป็นคนจน คนที่จนอยู่แล้วก็จะกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวในที่สุด
4.ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้ทุศีลให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน คือการแต่งงานกับสตรีหรือบุรุษไม่ดี ซึ่งมักทำลายกฎเกณฑ์ ประพฤติผิดศีลธรรม จริยธรรมเสมอ หรือการไว้วางใจให้สตรีหรือบุรุษเช่นนั้นครอบครองทรัพย์สมบัติ คนเช่นนั้นก็จะมีแต่ผลาญทรัพย์สมบัติให้หมดไป
สรุปโดยย่อ..
กุลจิรัฏฐิติธรรม 4 หลักธรรม 4 ประการที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง ประกอบด้วย
1. ของหายของหมดต้องแสวงหา
2. ของเก่าชำรุดต้องบูรณซ่อมแซม
3. รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
4. ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น