จักร 4
หลักธรรม ๔ ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
๒. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7
๓. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
๔. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ แปลว่า การอยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง การอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องกระทำ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น ผู้ต้องการศึกษาวิชาการสาขาใด ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีความพร้อมทุกๆ ด้าน เช่น ครู อาจารย์ ตำราเรียน การคมนาคมสะดวก และสิ่งอื่นๆ ที่จะอำนวยให้การเรียนมีประสิทธิภาพ ผู้ต้องการประกอบอาชีพเพาะปลูก ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพื้นดินดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนั้นๆ ผู้ต้องการประกอบอาชีพค้าขาย ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น มีสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมสะดวก ผู้ต้องการปฏิบัติธรรม ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพระสงฆ์ผู้รู้ธรรมและเคร่งครัดในพระวินัย มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมกันมาก ส่วนภิกษุผู้ต้องการบำเพ็ญสมณธรรม คือเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปในที่อันเหมาะสม คือ ป่า โคนไม้ กระท่อมร้าง เป็นต้น ที่กล่าวข้างต้น หมายถึง ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ แต่ความหมายโดยตรงของจักรข้อที่ ๑ ได้แก่ การอยู่ในท้องถิ่นที่สามารถศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้ดี คือ ท้องถิ่นที่มีคนดีผู้รู้ธรรม
๒. สัปปุริสูสังเสวะ (การเข้าไปคบหาคนดี) แปลว่า การคบสัตบุรุษ สัตบุรุษ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ ตรงกับภาษาบาลีว่า สัปปุริสะ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือสัปปุริสะ ย่อมมีสัปปุริสธรรม 7 ประการประจำตน ได้แก่
๑. รู้เหตุ ๒. รู้ผล
๓. รู้ตน ๔. รู้ประมาณ
๕. รู้กาล ๖. รู้ชุมชน
๗. รู้บุคคล การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับโอวาทของสัตบุรุษ เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษ คือ คนดีตามจักรข้อ 1 แล้ว ก็เข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น เป็นจักรข้อที่ 2 สัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดี ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
๓. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ) แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ ตน หมายถึง ร่างกายและจิตใจ การตั้งตนไว้ชอบจึงหมายถึง การตั้งอยู่ในสุจริต 3 คือ
• กายสุจริต ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม
• วจีสุจริต ได้แก่ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ
• มโนสุจริต ได้แก่ การไม่อยากได้ของผู้อื่น การไม่คิดพยาบาทผู้อื่น การเห็นชอบตามคลองธรรม อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
• การตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่ การหมั่นหาทรัพย์ การรักษาทรัพย์ไว้ การมีเพื่อนดี การเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอดี
• การตั้งอยู่ในประโยชน์ในอนาคต ได้แก่ ความสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยจาคะ ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เมื่อเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และสัตบุรุษแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำตามจักรข้อที่ 2 แล้ว ผู้เข้าไปคบหาสัตบุรุษนั้น ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของสัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน) แปลว่า ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน หมายความว่า ได้ทำบุญไว้ในอดีต บุญนั้น
• กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ กุศลกรรมหรือความดี
• กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข มีความหมายว่า
คนทำความดีในอดีตย่อมได้รับความสุขในปัจจุบัน
ทำความดีในปัจจุบันย่อมได้รับความสุขในอนาคต และผู้ที่ทำบุญหรือกระทำความดีนั้นยังได้รับความสุข ได้รับผลดีตอบแทนในขณะที่ทำนั้นด้วยความปิติยินดี ความสุขใจสบายใจที่ได้กระทำความดี การได้รับคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม การได้รับการปฏิบัติตอบที่ดี ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน อุปมาด้วยการเรียนหนังสือจนสำเร็จ ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร อันเป็นเครื่องแสดงคุณวุฒิให้เข้าทำงานได้ เมื่อทำงานเจริญก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น มีหลักฐานมั่นคง ก็ได้รับความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ ความสุขนั้นเป็นผลของความดี คือการเรียนหนังสือที่ได้กระทำไว้ในอดีต สำหรับความสุขที่ได้รับตามจักรข้อ ๔ นี้ เกิดจากการตั้งตนไว้ชอบตามจักรข้อ ๓ จักร ๔ มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ข้อแรกๆ เป็นเหตุให้เกิดข้อหลังๆ กล่าวคือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษเป็นให้คบกับท่าน การคบกับสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟัง ได้ศึกษา รู้จักบาปบุญ และละบาปบำเพ็ญบุญเป็นการตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งจะได้รับความสุขอันเป็นผลของบุญในกาลต่อมา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วในกาลก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น