มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา
พระคุณของพ่อแม่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านั้น ป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้นเสร็จ แม้บุตรจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด
ยังมีผู้อุปมาไว้ว่า หากเราใช้ท้องฟ้าแทนกระดาษ ยอดเขาพระสุเมรุ แทนปากกา น้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่ จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง ก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด
บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ
๑.เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลายในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีก เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใด ก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้เกิดเป็นคน ได้โครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการทำความดีทุกประการ เราจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบคุณความดีได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายให้นั่นเอง
๒.เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม อบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก
พระคุณพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้ว ยิ่งท่านอบรมเลี้ยงดูเรามา เป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกอนันต์
สมญานามของพ่อแม่
สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ ดังนี้
-พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ ได้แก่
๑.มีเมตตา คือ มีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด
๒.มีกรุณา คือ หวั่นใจในความทุกข์ของลูก และคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง
๓.มีมุทิตา คือ เมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ
๔.มีอุเบกขา คือ เมื่อลูกมีครอบครัว สามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษาให้เมื่อลูกต้องการ
-พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก (บุรพเทพ) ของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ
-พ่อแม่เป็นครูวิสุทธิเทพของลูก เพราะมีคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่
๑.ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งจะพลาดพลั้งล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ
๒.ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนาให้ลูกดี มีความสุข
๓.เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญต่อตัวท่าน
๔.เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก
คุณธรรมของลูก
เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูก เริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีก คือ ตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนา ได้บรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้นๆ แต่เก็บความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒ คำนี้
กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือ เห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา ว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆ ไปเท่านั้น
คุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือ ประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้าง ที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วๆ ไป เมื่อจะอุปการะใคร เขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้น เป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใดๆเลย เราเองก็เกิดมาตัวเปล่า ไม่มีหลักทรัพย์ แม้แต่เข็มเล่มเดียว ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้ว ยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ทั้งๆที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า กตัญญู เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้นเท่านั้น
กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ๒ ประการ คือ
๑.ประกาศคุณท่าน
๒.ตอบแทนคุณท่าน
การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมาก ไปทำตอนงานศพ คือ เขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือที่ตัวเรานี่เอง
คนเราทุกคน คือ ตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่าน เนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างชัดแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจก ไม่ใช่อยู่ที่หีบศพบนเชิงตะกอน แต่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษา ก็ผิดที่ไปสดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อย แต่ตัวเราผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์ แสดงกตเวทีแทน แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้าน ว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา
พ่อแม่ของใครใครก็รัก เมื่อรักท่าน ก็ประกาศคุณความดีของท่านสิ ประกาศด้วยความดีของตัวเราเอง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเรา จะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่ง ส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ด จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร
ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเรา ก็เป็นตัวประกาศคุณท่าน หรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา คิดเอาเองก็แล้วกันว่า เราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำถึงกับประจาน ผู้บังเกิดเกล้า ด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเร และประพฤติต่ำทราม
การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ
๑.เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบาย และเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย
๒.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที ต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำ ดังนี้
๑.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้
๒.ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้
๓.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้
๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้
เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนา เป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติเอง ทั้งในภพนี้ ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ เป็นหนทางไปสู่นิพพาน
อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา
๑.ทำให้เป็นคนมีความอดทน
๒.ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ
๓.ทำให้เป็นคนมีเหตุผล
๔.ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย
๕.ทำให้ได้ลาภโดยง่าย
๖.ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน
๗.ทำให้เทวดาลงรักษา
๘.ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ
๙.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า
๑๐.ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี
๑๑.ทำให้มีความสุข
๑๒.ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
“เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น